มารู้จัก PMS (Premenstrual Syndrome) ก่อนถึงเวลานั้นของเดือน

ประจำเดือน เรื่องใกล้ตัวของสาวๆทุกคน เป็นสิ่งที่ต้องพบเจอเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป โดยในช่วงสองปีแรกนั้นมักจะมาไม่สม่ำเสมอ เพราะการผลิตฮอร์โมนยังไม่สมดุล ปกติแล้วประจำเดือนจะมีรอบแต่ละเดือนห่างกันทุกๆ 28-33 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละคนและเป็นอยู่ราวๆ 6 วัน ในช่วงก่อนที่จะเป็นประจำเดือน บางรายจะมีอาการปวดท้องน้อย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า PMS หรือ Premenstrual Syndrome แล้วจะหายไปเองหลังประจำเดือนมา 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

pms symptoms
ภาพจาก fertilityroad.com

PMS หรือ Premenstrual Syndrome คืออะไร?

PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ราวๆ 80% มักจะเจอกับการอาการดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-40 ปี ปัญหาที่ต้องพบเจอและสังเกตุได้เลยคือ รู้สึกเหมือนว่าว่าตัวเองกำลังป่วย ไม่สบายตัว หงุดหงิด ใช้ชีวิตได้ไม่สุด มีวันที่แย่ๆวันหนึ่ง และมักจะเป็นในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-11 วัน แล้วอาการเหล่านี้ก็จะหายได้เองหลังประจำเดือนมาแล้ว 4-7 วัน

PMS มีอาการอย่างไร?

ช่วงก่อนวันนั้นของการมีประจำเดือนมักจะมีอาการการแสดงออกให้รู้ตัว โดยจะส่งผลทั้งทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม และทางด้านร่างกาย ได้ดังนี้

ทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม

  • มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือโกรธง่าย
  • มีความตึงเครียดและไม่มีสมาธิ
  • มีอารมณ์เศร้า ร้องไห้กับเรื่องเล็ก ๆ วิตกกังวล
  • มีความต้องการหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ
  • มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ

ทางด้านร่างกาย

  • เจ็บเต้านม
  • ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง ท้องอืด
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • มีสิวขึ้น

PMS รับมือหรือบรรเทาอาการอย่างไร?

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต

  • ผู้ป่วยสามารถบรรเทาหรือลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้โดยการปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทานและเริ่มออกกำลังกาย

การปรับเปลี่ยนอาหาร

  • รับประทานอาหารมื้อเล็กลง บ่อยขึ้น เพื่อบรรเทาอาการท้องอืดลดการอาหารรสเค็มหรือรที่มีโซเดียมสูง เพื่อป้องกันอาการท้องอืดหรือบวมน้ำ
  • รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืช
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เริ่มออกกำลังกาย

  • เริ่มต้นเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นเวลา 30 นาทีให้ได้เกือบทุกวัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นและลดอาการอ่อนเพลียหรืออารมณ์แปรปรวนเนื่องจากอาการก่อนมีประจำเดือนได้

พยายามลดความเครียด

  • กำหนดเวลานอนใหม่ โดยนอนให้เป็นเวลาและนอนอย่างมีคุณภาพ
  • ฝึกโยคะ ฝึกการหายใจลึก ๆ หรือการคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ วิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับ

รับประทานวิตามิน เกลือแร่ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

  • แคลเซียม
    • จากการศึกษาพบว่าแคลเซียมช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย อาการอยากอาหาร และอาการซึมเศร้าเนื่องจากอาการก่อนมีประจำเดือน โดยอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ นม ชีส โยเกิร์ต ขนมปังหรือซีเรียลเสริมแคลเซียม
  • แมกนีเซียม
    • งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าแมกนีเซียมช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ความเครียด ความวิตกกังวลที่เกิดจากอาการก่อนมีประจำเดือนได้ โดยแมกนีเซียมมักพบมากในผักใบเขียว ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืช
  • วิตามินบี 6
    • จากการศึกษาพบว่าวิตามินบี 6 ช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนที่ไม่รุนแรงได้ โดยวิตามินบี 6 พบมากในปลา สัตว์ปีก มันฝรั่ง ผลไม้ที่ไม่มีรสเปรี้ยว
  • กรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6
    • ช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้ โดยอาหารที่มีกรดไขมันเหล่านี้มาก ได้แก่ ปลา เมล็ดแฟล็กซ์ ถั่วเปลือกแข็ง ผักใบเขียว
  • ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมอาหาร
    • สมุนไพรแบล็คโคฮอช เชสต์เบอร์รี่ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

PMS นอกจากจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้หญิงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน หากพบว่าอาการ PMS มีผลจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถควบคุมอาการได้ และมีความผิดปกติทางสุขภาพและอารมณ์อย่างรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

Ref.
อาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome)
“PMS” กับอาการเหวี่ยงวีนของสาวๆ ก่อนมีประจำเดือน
PMS คืออะไร รู้ทันเรื่องฮอร์โมน อาการก่อนมีประจำเดือน