พยาธิแส้ม้า อนามัยที่ถูกลืมกับการกินที่ไม่ถูกหลัก

พยาธิแส้ม้า เป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ในลำใส้ของคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อและสามารถแพร่กระจายผ่านทางอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ผ่านการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย ไข่ของพยาธิจะอาศัยอยู่ในปุ๋ยหรือดิน โดยการติดเชื้อจะเกิดจากการรับประทานไข่ของพยาธิที่อาจจะปะปนไปกับผักหรือผลไม้ การใช้มือหยิบอาหารจากพื้น หรือการล้างมือที่เปื้อนดินมาไม่สะอาด โรคพยาธิแส้ม้าพบได้ในทุกๆวัย แต่ส่วมมากจะพบในเด็ก

ภาพจาก w1.med.cmu.ac.th

พยาธิแส้ม้ามีลักษณะและวงจรชีวิตอย่างไร

undefinedภาพจาก wikimedia.org

พยาธิแส้ม้า (Whipworm / Trichuris trichiura) เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง ตัวเต็มวัยจะมีลักษณะคล้ายแส้ม้า อาจจะยาวได้ประมาณ 3-5 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในกระพุ้งใส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระปะปนลงไปอยู่ในพื้นดิน ไข่ของตัวอ่อนจะเจริญเติบโตโดยใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน เมื่อเข้าไปสู่ร่างกายของมนุษย์ เปลือกไข่ที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกย่อยแล้วปล่อยตัวอ่อนของพยาธิออกมาและเจริญเติบโตอยู่ภายในร่างกายบริเวรกระพุ้งใส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ต่อไป

สาเหตุของการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

เกิดจากการกลืนไข่ของพยาธิแส้ม้าผ่านการรับประทานผัก ผลไม้ หรือการทานของจากดินล้างที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กที่อาจจะเล่นตามพื้นทรายหรือดิน อาจจะมีไข่ของพยาธิติดไปตามนิ้วมือได้

พบการระบาดของเชื้อพยาธิแส้ม้าที่ไหนบ้าง

มีการระบาดเป็นอย่างมากในเขตอาการร้อนชื้น โดยเฉพาะในบริเวรภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ความชื้นสูง บางพื้นที่แสงแดดส่องลงไปไม่ถึงพื้นดิน เหมาะกับการเจริญของไข่พยาธิแส้ม้า แหล่งระบาดของพยาธิแส้ม้าจึงคล้ายคลึงกับพยาธิไส้เดือนกลม มักจะพบการระบาดของพยาธิสองชนิดนี้ร่วมกันเสมอ

อาการของการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

พยาธิแส้ม้าจะส่งผลต่อผู้ที่ติดเชื้อให้เกิดอาการที่แตกต่างกันออกไป ตามความรุนแรงของการติดเชื้อ ในบางกรณีอาจจะไม่พบอาการใดๆ แต่หากเกิดการติดเชื้อรุนแรงอาจจะพบอาการต่างๆ เช่น

  • ท้องเสียอุจจาระบ่อย รู้สึกเจ็บขณะอุจจาระ โดยอาจจะมีมูก หรือเลือดปนมาด้วย
  • กลั้นอุจจาระไม่อยู่
  • ภาวะโลหิตจาง
  • ลำไส้ตรงปลิ้น คือ ภาวะที่ส่วนหนึ่งของลำไส้ยื่นออกมาจากทวารหนัก

หากพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากอาการดังกล่างอาจจะเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อหรือโรคอื่นๆนอกจากพยาธิแส้ม้าได้

ภาวะอาการแทรกซ้อนของการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

ในกรณีที่เด็กติดเชื้อพยาธิแส้ม้าจนมีอาการรุนแรงแล้วไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทางด้านสติปัญญาและมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโตที่ล่าช้า

การวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

ในการวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิแส้ม้าส่วนใหญ่แพทย์จะนำเอาตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยไปส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาไข่ของพยาธิ แต่ในบางกรณีอาจตรวจเพิ่มเติมโดยการสอดกล้องขนาดเล็กไปในลำไส้เพื่อหาสาเหตุของการขับถ่ายที่ผิดปกติ และอาจจะพบกับตัวของพยาธิแส้ม้าที่เติบโตเต็มวัย

การรักษาการติดเชื้อของพยาธิแส้ม้า

แพทย์อาจจะให้ทานยาอย่าง อัลเบนดาโซล (Albendazole) หรือยามีเบนดาโซล (Mebendazole) เพื่อทำการถ่ายพยาธิเพื่อกำจัดพยาธิและไข่ของพยาธิแส้ม้าในร่างกาย โดยจะให้รับประทานยาติดต่อกัน 1-3 วัน และอาจจะตรวจอุจจาระซ้ำหลังรับประทานยา เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการติดเชื้ออยู่ในร่างกายหลงเหลืออยู่แล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ ก่อนใช้ยาดังกล่าวควรปรึกษากับแพทย์ เนื่องจากยาตัวดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์

การป้องกันการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า

พยาธิแส้ม้ามีสาเหตุมาจากการขาดสุขลักษณะอนามัยที่ดี การป้องกันที่ดีที่สุดก็ควรรักษาความสะอาดก่อนสัมผัสหรือรับประทานอาหารตามคำแนะนำนี้

  • ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนหยิบหรือจับอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังการสัมผัสสิ่งสกปรกโดยเฉพาะดิน
  • รับประทานผักหรือผลไม้ที่ผ่านการล้างทำความสะอาดหรือปรุงสุกอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่อาจมีการปนเปื้อน
  • หากเลี้ยงสุนัขหรือแมวควรตัดหญ้าให้สั้น โดยเฉพาะบริเวณที่สัตว์เลี้ยงมักถ่ายอุจจาระและเก็บอุจจาระสัตว์เสมอ รวมถึงควรทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวเป็นประจำ

Ref.
โรคพยาธิเเส้ม้า (Trichuliasis)
พยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)
โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)